ศูนย์ศึกษาการย้ายถิ่นมหิดล-หน่วยวิจัยร่วม (MMC-JRU) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล คณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ได้จัดงาน “การเจรจาการปฏิรูปนโยบายเรื่องการจ้างแรงงานข้ามชาติและการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในภาคเกษตรกรรม” ในวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล ถนนศรีอยุธยา แขวงพญาไท เวลา 8:00-16:30 น. โดยเป็นเวทีระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจ้างแรงงานข้ามชาติในภาคเกษตรกรรม
ซึ่งในปัจจุบันภาคเกษตรยังเป็นภาคการผลิตที่สำคัญสำหรับประเทศไทย รายได้รวมของภาคเกษตรกรรมสูงถึงร้อยละ 8.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) จากข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) ได้ระบุว่าในปี 2561 ประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกด้านเกษตรกรรม มีมูลค่าสูงถึง 23.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมจากการใช้กำลังแรงงานไทยอย่างเข้มข้นไปเป็นการจ้างแรงงานข้ามชาติมากยิ่งขึ้น สืบเนื่องมาจากที่ประชาชนมีการศึกษาที่ดีขึ้น มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงทางประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย จากสาเหตุหลายประการดังกล่าวเป็นเหตุผลสำคัญในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย
จากสถิติของสำนักบริหารแรงงานข้ามชาติ 4 สัญชาติ (พม่า ลาว กัมพูชาและเวียดนาม) พบว่า มีแรงงานต่างชาติที่ได้รับอนุญาตทำงานทั้งหมด จำนวน 2,336,125 คน ทำงานอยู่กิจการภาคเกษตรกรรม จำนวน 251,311 คน และต่อเนื่องเกษตรกรรม จำนวน 251,784 คน
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากคุณกาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมเปิดงานและปาฐกถา โดยในเวทีสัมมนาได้นำเสนอประเด็นปัญหา 3 ประเด็นหลักในเชิงกฎหมายและนโยบายสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและการจัดสวัสดิการทางสังคมที่จำเป็นสำหรับแรงงานข้ามชาติ
รองศาสตราจารย์ ดร.สุดารัตน์ มุสิกะวงศ์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำเสนอประเด็นเรื่องแรงงานภาคเกษตรที่ส่วนใหญ่ยังจัดเป็นแรงงานนอกระบบการคุ้มครองแรงงานเนื่องจากยังเป็นการจ้างระยะสั้น ๆ ทำให้ความมั่นคงในการจ้างงานยังต่ำ มีรายได้ไม่ต่อเนื่อง ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติในภาคเกษตรจำนวนมากต้องหานายจ้างหลายคนและหมุนเวียนทำงานในชุมชนเพื่อให้มีรายได้พอเพียงทั้งปี โดยในการทำงานกับนายจ้างหลายคนและหมุนเวียนนายจ้างในลักษณะนี้ อาจจะเข้าเงื่อนไขการทำงานผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในชีวิตของแรงงานข้ามชาติ หลายรายถูกเจ้าหน้าที่จับกุม ส่งกลับ หรือถูกปรับ ซึ่งในปัจจุบัน ระบบการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติก็ยังไม่แนวทางแก้ไขข้อจำกัดสำหรับแรงงานข้ามชาติที่ทำงานภาคเกษตรกรรมที่มีลักษณะสภาพการจ้างงานที่มีลักษณะเฉพาะเช่นนี้มากนัก และหลายครั้งได้กลายเป็นสาเหตุให้แรงงานข้ามชาติภาคเกษตรต้องหลุดจากระบบการจ้างงานที่ถูกกฎหมาย กลายเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมายไป
ในด้านการคุ้มครองแรงงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทรงพันธ์ ตันตระกูล คณะมนุษศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโครงการพัฒนาและขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสุขภาวะของแรงงานข้ามชาติที่ยังมิได้รับการคุ้มครอง ระบุว่า เนื่องจากกฎหมายคุ้มครองแรงงานได้กำหนดการคุ้มครองสิทธิแรงงานที่ทำงานในภาคเกษตรที่ไม่ได้มีการจ้างต่อเนื่องทั้งปีให้มีลักษณะที่แตกต่างจากแรงงานทั่วไป โดยมีการออกกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานเกษตรกรรม ซึ่งยกเว้นการไม่ใช้บางมาตรตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ที่เป็นส่วนสำคัญของระบบการคุ้มครอง เช่น ไม่มีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ขึ้นกับการตกลงกันระหว่าลูกจ้างกับนายจ้าง ไม่มีการกำหนดชั่วโมงทำงาน และเวลาพักที่แน่นอน ไม่มีการกำหนดวันหยุดประจำสัปดาห์ ไม่มีวันหยุดตามประเพณี ไม่มีการกำหนดเวลาทำงานของแรงงานหญิง และเลิกจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เป็นต้น ส่งผลกระทบต่อการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในภาคเกษตรกรรมในปัจจุบันเป็นอย่างมาก เนื่องจากปัจุบันแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในภาคเกษตรส่วนใหญ่จะมีลักษณะที่ไม่จ้างงานทั้งปี หรือไม่มีการผลิตตลอดทั้งปีกับนายจ้างคนใดคนหนึ่ง ส่งผลให้ถูกตีความว่าเป็นงานในกิจการเกษตรที่ไม่มีการจ้างทั้งปี ส่งผลให้ไม่ได้รับการคุ้มครองโดยเฉพาะเรื่องค่าจ้างค่าแรงาน วันหยุด ค่าจ้างในวันหยุดซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้แรงงานข้ามชาติมีรายได้พอเพียงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
คุณมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน และคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ระบุถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงการมีหลักประกันสังคมของแรงงานข้ามชาติ แรงงานภาคเกษตรนอกระบบการคุ้มครองแรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้รับสวัสดิการจากการทำงานโดยมี บางกลุ่มที่มีลักษณะการจ้างงานที่มีนายจ้าง นายจ้างจะจัดหาสวัสดิการบางอย่างให้ลูกจ้าง เนื่องจากแรงงานในภาคเกษตรที่ไม่จ้างงานทั้งปี ยังไม่สามารถขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนประกันสังคมได้อย่างถูกต้อง ประกันสังคม เนื่องจากตามพระราชกฤษฎีกากำหนดลูกจ้างตามมาตรา 4 (6) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้แรงงานในกิจการเกษตรที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างที่ทำงานตลอดทั้งปี ไม่อยู่ในการบังคับใช้ของพรบ.ประกันสังคม ทำให้สวัสดิการ กลไกการคุ้มครองทางสังคมของแรงงานภาคเกษตรยังขึ้นอยู่กับความเมตตาของนายจ้างและการขูดรีดตัวเองของแรงงาน โดยที่ยังไม่มีระบบหลักประกันทางสังคมของภาครัฐที่เข้าดูแล ในขณะที่ความมั่นคงในการจ้างงานต่ำ และต้องทำงานหนักเนื่องจากรายได้ที่ไม่แน่นอน ทำให้มีความเสี่ยงต่อเรื่องสุขภาพค่อนข้างมาก
หากพิจารณาเงื่อนไขในการเข้าไม่ถึงประกันสังคมโดยผลของกฎหมายในกิจการภาคเกษตรที่ไม่จ้างงานกับนายจ้างรายเดียวทั้งปีนั้น ก็แทบไม่พบเงื่อนไขใด ๆ ที่แตกต่างระหว่างแรงงานภาคเกษตรที่จ้างงานทั้งปีมากนัก เช่น นิติสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างและนายจ้างตามพ.ร.บ.ประกันสังคม ก็ไม่ได้มีความแตกต่างกัน ยังถือว่าทั้งคู่เป็นลูกจ้างตามกฎหมาย ขณะเดียวกันก็พบว่าเกษตรกรรมที่จ้างทั้งปี ก็มีการเปลี่ยนย้ายนายจ้าง เช่น เดียวกับแรงงานที่ไม่จ้างทั้งปี ประกันสังคมก็มีระบุการแจ้งย้ายนายจ้าง มีระบบการเก็บเงินสมทบที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนย้ายนายจ้าง
และหากพิจารณาในเรื่องเงินสมทบกฎหมายประกันสังคมในปัจจุบันก็ไม่ได้มีข้อจำกัดในลักษณะการจ้างงานไม่ทั้งปีแต่อย่างใด เนื่องจากมีการคิดค่าจ้างที่ต้องหักจ่ายสมทบในหลายรูปแบบ และอิงตามรายได้ของผู้ประกันตนในแต่ละเดือน โดยให้นายจ้างเป็นผู้หักจ่ายเงินสมทย ส่วนประเด็นสิทธิประโยชน์ประกันสังคม เป็นสิทธิประโยชน์พื้นฐานที่มีความจำเป็นสำหรับแรงงานเกือบทุกคน ดังนั้นหากพิจารณาในแง่นี้ การกำหนดให้ภาคเกษตรที่ไม่ได้จ้างทั้งปี (กับนายจ้างรายเดียว) ไม่อยู่ในกองทุนประกันสังคม ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดลูกจ้างตามมาตรา 4 (6) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 พ.ศ. 2545 จึงเป็นเรื่องที่ควรพิจารณาทบทวน
ข้อเสนอจากการสัมมนาในครั้งนี้ จึงมุ่งไปการเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขในเชิงกฎหมายและนโยบายในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติและการคุ้มครองแรงงานในภาคเกษตรทั้งระบบ โดยมีข้อเสนอสำคัญ
- หนึ่ง จะต้องมีการกำหนดนโยบายจ้างแรงงานข้ามชาติที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนและเอื้อต่อการจ้างงานในรูปแบบที่หลากหลายในภาคเกษตร รวมทั้งแก้ไขประกาศ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนย้ายนายจ้างของแรงงานข้ามชาติในกิจการภาคเกษตรกรรม ให้รองรับการจ้างงานที่สามารถทำได้กับนายจ้างมากกว่าหนึ่งราย
- สอง แก้ไขกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานเกษตรกรรมเพื่อให้การคุ้มครองแรงงานที่สำคัญภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานครอบคลุมแรงงานในภาคเกษตรทั้งหมดโดยไม่จำกัดวิธีการจ้างหรือระยะเวลาการทำงาน
- สาม พิจารณาแก้ไขทบทวนพระราชกฤษฎีกากำหนดลูกจ้างตามมาตรา 4 (6) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 พ.ศ. 2545
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ:
- นายอดิศร เกิดมงคล โทรศัพท์เคลื่อนที่ 0897887138 หรือ adisorn.keadmongkol@gmail.com
- รองศาสตราจารย์ ดร.สุดารัตน์ มุสิกะวงศ์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ 0625533520 หรือ sudarat.mus@mahidol.edu
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทรงพันธ์ ตันตระกูล คณะมนุษศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโครงการพัฒนาและขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสุขภาวะของแรงงานข้ามชาติ โทรศัพท์เคลื่อนที่ 0818828811หรือ songphan.tan@cmu.ac.th
- รองศาสตราจารย์ ดร. ธีรนงค์ สกุลศรี โทรศัพท์เคลื่อนที่ 0814695471 หรือ teeranong.sak@mahidol.edu