4 องค์กรวิชาชีพออกแบบและก่อสร้างออกแถลงการณ์กรณีภัยพิบัติแผ่นดินไหว

สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย และ สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะตัวแทนองค์กรวิชาชีพด้านงานออกแบบและก่อสร้าง ยินดีให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบกรณีภัยพิบัติแผ่นดินไหว พร้อมเสนอรัฐบาลจัดตั้งคณะทำงาน โดยมีผู้แทน 4 สมาคมร่วมทบทวนกฎหมาย ข้อกำหนดและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและก่อสร้าง เพื่อให้สอดคล้องและทันต่อเทคโนโลยีอุตสาหกรรมก่อสร้างที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และมีความมั่นคงปลอดภัยต่อ
ทรัพย์สินและผู้ใช้งานอาคาร

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเมียนมาร์ที่สั่นสะเทือนถึงประเทศไทย เมื่อช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 ทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก อีกทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของภาครัฐ เอกชน รวมถึง ประชาชนเป็นจำนวนมากโดยภัยพิบัติแผ่นดินไหวในครั้งนี้ส่งผลกระทบโดยตรงกับโครงการอสังหาริมทรัพย์ อาคารสำนักงาน อาคารพาณิชย์ และที่พักอาศัยหลายแห่ง ทั้งที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง การเข้าใช้งาน และอยู่อาศัยแล้ว

ดร.วีระพันธุ์ ชินวัตร อุปนายก สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวในฐานะตัวแทน องค์กรวิชาชีพออกแบบและก่อสร้างไม่อาจปฏิเสธความเกี่ยวข้องต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคมจากเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งนี้ได้และขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อความสูญเสียของพี่น้องประชาชน ทั้งนี้ ทางกลุ่มได้เชิญ ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้าง ผู้เชี่ยวชาญโครงสร้างป้องกันแผ่นดินไหวมาให้ความเห็นเบื้องต้นเกี่ยวกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ด้วยมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพของสถาปนิกและวิศวกรที่ประกอบวิชาชีพนั้น จำเป็น ต้องได้รับใบอนุญาต ประกอบวิชาชีพตามกฎหมาย พร้อมทั้งปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มั่นใจ ได้ว่าอาคารทุกแห่งที่ผ่านการออกแบบและควบคุมงานจะมีความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ ใช้อาคารและผู้เกี่ยวข้อง

โดยบทบาทและหน้าที่ของสถาปนิก มีหน้าที่ในการออกแบบด้านสถาปัตยกรรมให้เหมาะสมกับสภาพ แวดล้อม มีความสวยงาม ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้สอยอาคาร อีกทั้งมีหน้าที่บริหารจัดการการออกแบบทุกขั้นตอนและร่วมมือกับวิศวกรทุกระบบเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคาร เพื่อให้เกิดความมั่นคง ปลอดภัย แข็งแรงของระบบโครงสร้าง และระบบอาคาร

นางสาวบุษกร แสนสุข เลขาธิการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวถึง บทบาทหน้าที่ของวิศวกร มีความสำคัญทั้งด้านการออกแบบ ควบคุมงาน และดูแลความปลอดภัย ในโครงการก่อสร้าง โดยแบ่งเป็น 2 ด้านหลัก ได้แก่

1. วางแผนและออกแบบ วิศวกรโครงสร้างทำงานร่วมกับสถาปนิกในการออกแบบอาคารให้มั่นคงปลอดภัย ตามมาตรฐานวิชาชีพ และกฎหมาย เช่น การคำนวณน้ำหนักบรรทุก ลม และแผ่นดินไหว ขณะที่วิศวกรเครื่องกลและไฟฟ้า รับผิดชอบออกแบบระบบต่าง ๆ ได้แก่ ระบบปรับอากาศ สุขาภิบาล ไฟฟ้า ลิฟต์ บันไดเลื่อน ระบบ ป้องกันอัคคีภัย และสิ่งแวดล้อม ให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางวิศวกรรม

2. ควบคุมงานก่อสร้าง วิศวกรโครงการดูแลการวางแผนงาน ตรวจสอบและควบคุมการทำงาน ของผู้รับเหมาให้เป็นไปตามแบบ รายละเอียด และงบประมาณ ติดตามประเมินคุณภาพงาน ความก้าวหน้า และความเสี่ยง พร้อมจัดทำรายงานและเอกสารประกอบโครงการ

โดยบทบาทและหน้าที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อเกิดอุบัติเหตุทาง วิศวกรรมหรือภัยพิบัติ คือ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบด้านโครงสร้างหรือระบบวิศวกรรม วสท. จะจัดส่งวิศวกรผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ทันทีเพื่อประเมินความเสียหาย วิเคราะห์สาเหตุ และเสนอแนะแนวทาง แก้ไขเร่งด่วน โดยมีคณะกรรมการเฉพาะทางด้านโครงสร้าง เครื่องกล ไฟฟ้า อัคคีภัย ระบบราง ฯลฯ

ในกรณีภัยพิบัติขนาดใหญ่ วสท. ยังมีบทบาทในด้านการบริหารจัดการของชุดค้นหา และกู้ภัยในเมือง แห่งชาติ (National Urban Search and Rescue Team) (USAR Team) ซึ่งรวมถึงการวางแผน สั่งการ ประสานงาน วิเคราะห์สถานการณ์ ดูแลความปลอดภัยโครงสร้าง และสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในราชอาณาจักรและต่างประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงบทบาทและหน้าที่ของผู้ควบคุมงานโดยการควบคุมงานก่อสร้างอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสถาปนิกและวิศวกร ซึ่งเป็นผู้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทุกกระบวนการในการก่อสร้าง ได้รับการตรวจสอบ ความปลอดภัยอย่างละเอียดจากผู้เชี่ยวชาญ

นายนิวัฒน์ ธัญปิตินันทน์ อุปนายกต่างประเทศ สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวถึงบทบาท และหน้าที่ของวิศวกรที่ปรึกษา ในด้านงานออกแบบ คือ ร่วมประสานกับสถาปนิก และ ผู้ออกแบบอื่นๆ ในงานออกแบบเพื่อให้งานออกแบบวิศวกรรมเป็นไปตามคุณภาพและข้อกำหนด ที่ดี จัดทำข้อกำหนดทางวิศวกรรมให้แก่โครงการ จากการวิเคราะห์คำนวณ รับผิดชอบในงานออกแบบวิศวกรรม ให้เป็นไปตามมาตรฐานงานออกแบบและกฎหมาย อย่างเคร่งครัด คาดการณ์และคำนึงวิธีการก่อสร้าง ภาวะการใช้งาน ที่เหมาะสม ออกแบบให้ประหยัด คุ้มค่า ไม่สิ้นเปลืองวัสดุ และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

สำหรับบทบาทและหน้าที่ของวิศวกรที่ปรึกษาในด้านงานผู้ควบคุมงานก่อสร้าง คือ ควบคุมงานก่อสร้าง ให้เป็นไปตามแบบก่อสร้าง อย่างเคร่งครัด ตรวจสอบข้อกำหนดงานก่อสร้าง ให้เป็นไปตามที่ผู้ออกแบบได้กำหนดไว้ ให้คำแนะนำ ข้อคิดเห็นแก่ผู้รับจ้างก่อสร้างในการดำเนินการก่อสร้าง กำหนดข้อกำหนดในการทำงานเพื่อความปลอดภัย ในโครงการ ร่วมประสานงานกับ ผู้ออกแบบ และเจ้าของงาน ในการดำเนินงาน ร่วมตรวจสอบและอนุมัติวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง ให้เป็นไปตามข้อกำหนด (Specification) ของผู้ออกแบบ กำกับดูแลการทดสอบงานระบบ (Testing & Commissioning) ของอาคารว่าสามารถใช้งานได้จริงและมีความปลอดภัย

นายศรันย์ โรจน์เลิศจรรยา เลขาธิการ สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า หน้าที่ของผู้ประกอบการงานก่อสร้าง คือการก่อสร้างให้ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม และดำเนินการให้ตรงตามแบบรูป รายการ ที่ผู้ออกแบบกำหนดไว้ในสัญญา โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้เกี่ยวข้องในการก่อสร้าง ผู้ใช้สิ่งปลูกสร้างและประชาชน โดยในขั้นตอนการทำงานจะต้องส่งขออนุมัติแผนงาน วัสดุตามที่กำหนดไว้ในแบบรูป รายการ และขออนุมัติขั้นตอนการก่อสร้างจากผู้ควบคุมงาน เมื่อได้รับอนุมัติแล้วจึงมีหน้าที่ปฏิบัติงาน และใช้วัสดุให้ตรงตามที่ได้รับอนุมัติไว้ รวมถึงควบคุมให้แน่ใจว่าใช้งานตรงตามหลักวิศวกรรมและความปลอดภัย

ดร.วีระพันธุ์ ชินวัตร อุปนายก สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวโดยสรุป จากการหารือกรณีภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งนี้ของตัวแทนจาก 4 สมาคมฯ มีความเห็นไปในทิศทาง เดียวกันด้วยบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในฐานะองค์กรวิชาชีพด้านการออกแบบและก่อสร้าง มุ่งหวังในการ ช่วยเหลือให้คนไทยสามารถก้าวข้ามวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปด้วยกัน พร้อมขอยืนยันว่าทุกฝ่ายจะให้ความร่วมมือ อย่างเต็มที่กับหน่วยงานภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องในการตรวจสอบและแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งเสริมสร้างมาตรการ ความปลอดภัยให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในการใช้อาคารสถานที่อย่างปลอดภัย เพื่อช่วยให้ สาธารณชนได้คลายกังวลต่อสถานการณ์ ทั้ง 4 องค์กรยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการดำเนินการดังต่อไปนี้ ได้แก่

1.ยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐ เตรียมบุคลากรอาสา ช่วยตอบคำถามต่อพี่น้องประชาชน ที่ถามมาในเรื่องตรวจ สอบ อาคารของตนเอง จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว และแนะนำในเรื่องการซ่อมแซม หากมีการร้องขอจากภาครัฐ โดย สมาคมสถาปนิกสยามฯ จะทำหนังสือไปถึงสมาชิกสมาคมฯ ที่เคยเป็นผู้ออกแบบ ควบคุมงานก่อสร้าง อาคาร ที่ตนรับ ออกแบบได้จัดให้ สถาปนิก วิศวกรผู้รับผิดชอบโครงการนั้น ได้เข้าเยี่ยมเยียน เพื่อแสดงความรับผิดชอบ ในการประกอบ วิชาชีพ เพื่อให้ความคิดเห็นต่อความปลอดภัยในการใช้อาคาร

2.เสนอรัฐบาล จัดตั้งคณะทำงาน โดยมีผู้แทนทั้ง 4 สมาคมมีส่วนร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อทบทวนกฎหมายข้อกำหนด และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและก่อสร้าง เพื่อให้สอดคล้องและทันต่อเทคโนโลยี ในอุตสาหกรรม ก่อสร้างที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และมีความมั่นคงปลอดภัยต่อทรัพย์สินและผู้ใช้งานอาคาร

ใหม่กว่า เก่ากว่า